เข้าใจถึงสาเหตุการปวดเข่า และวิธีรักษาหลากหลายวิธี

ปวดเข่า

                หลายคนอาจจะเข้าใจว่าอาการปวดเข่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอาจจะเกิดจากการเดินเยอะเกินไป หรือการออกกำลังกาย และสามารถหายได้เอง แต่นั่นก็อาจจะไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องเสมอไป เพราะความจริงแล้วอาการปวดบริเวณเข่านั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และมีระดับความรุนแรงของอาการหลายระดับ ที่จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ถูกวิธี เราไปดูกันเลยดีกว่า ว่าอาการปวดบริเวณเข่าของคุณ เกิดจากสาเหตุใด และควรทำการรักษาอย่างไร

มาเช็กดูว่าอาการปวดเข่าของคุณ อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุใด

                วันนี้เราได้นำสาเหตุของอาการปวดเข่า มาให้คุณได้เช็กอาการของตัวเอง เพื่อที่คุณจะได้สามารถประเมินอาการเบื้องต้นเอง และได้รับรู้ถึงระดับความรุนแรงของอาการ โดยเราได้สรุปสาเหตุของอาการปวดบริเวณเข่าออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

เกิดจากการบาดเจ็บ หรืออักเสบ

อาการเจ็บปวดบริเวณเข่า ที่เกิดจากการบาดเจ็บ หรืออักเสบของข้อเข่า มักเกิดจากอุบัติเหตุที่คุณไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา และการออกกำลังกายแบบหักโหมจนเกินไป หรืออาจจะเป็นอาการของโรคบางอย่างก็เป็นไปได้ เช่น โรครูมาตอยด์ หรือเกาต์ เป็นต้น ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดแบบเฉียบพลัน จนทำให้การใช้ชีวิตประจำวันลำบากมากขึ้นนั่นเอง

เกิดจากความเสื่อมของข้อเข่า

               ความเสื่อมของข้อเข่า มักเกิดกับผู้สูงอายุ ที่ข้อเข่าเสื่อมไปเองตามกาลเวลา หรือเกิดกับคนที่อายุน้อยก็ได้เช่นกัน ทั้งในกรณีที่ใช้งานข้อเข่าหนัก ๆ ต่อเนื่องอย่างยาวนาน หรือผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ก็จะส่งผลกับข้อเข่าได้เช่นกัน อาการปวดเข่าที่เกิดจากความเสื่อมของข้อเข่านี้ จะทำให้คุณมีอาการปวดเป็นเวลานาน ไม่ทุเลาลง ไม่ว่าจะทายา หรือพักการเดินแล้วก็ตาม เพราะความเสื่อมของข้อเข่า ทำให้เกิดโรคได้หลายชนิด เช่น โรคข้อสะบ้าเข่าอักเสบ โรคกล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง โรคหมอนรองกระดูกฉีกขาด หรือโรคที่เกี่ยวกับกระดูก และกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง เป็นต้น

วิธีรักษาอาการปวดเข่า ทำแบบไหนได้บ้าง

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าอาการปวดเข่านั้น มีทั้งวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง และการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการที่คุณเป็นด้วย ดังนั้นไปดูกันเลยว่าอาการที่คุณเป็นต้องรักษาแบบไหน

การดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง

        หากอาการเจ็บปวดบริเวณเข่าของคุณอยู่ในระดับที่ทนได้ เมื่อพักการใช้งานแล้ว รู้สึกว่าอาการดีขึ้น และอาการเจ็บปวดนั้นไม่ได้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก เราขอแนะนำให้คุณดูแลรักษาด้วยตนเอง โดยการพักทั้งการเดิน วิ่ง และการขึ้นลงบันได เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูด้วยตัวเอง และทำอีก 2 ข้อ ดังนี้

  • ประคบหัวเข่า : ให้ประคบเย็นหลังจากเกิดอาการอย่างเฉียบพลัน เพื่อลดอาการอักเสบ หลังจากนั้นให้ประคบอุ่นตาม เพื่อช่วยให้เลือดมาหล่อเลี้ยงข้อเข่ามากขึ้น การประคบทั้งเย็นและร้อนอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้อาการเจ็บปวดลดลงได้ไวขึ้น
  • ยกปลายขาให้สูง : ก่อนนอน แนะนำให้คุณใช้ผ้า หรือหมอน นำมาหนุนที่ปลายขาให้สูงขึ้นอย่างพอดี เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดลงไปกระตุ้นการอักเสบที่บริเวณข้อเข่า ซึ่งจะทำให้อาการเจ็บปวดเป็นมากขึ้นได้นั่นเอง
  • การรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

        หากดูแลรักษาอาการปวดด้วยตนเองไปแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ขยับร่างกาย แต่ก็เกิดอาการปวดขึ้นมา รวมไปถึงมีอาการบวมแดงร่วมด้วย อาการนี้บ่งบอกว่าคุณควรต้องไปพบแพทย์ได้แล้ว โดยการรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็จะมีหลากหลายแบบ ตามการวินิจฉัย และความเหมาะสมกับสาเหตุที่คุณเป็น เช่น การกายภาพบำบัด ฝึกบริหารกล้ามเนื้อ การผ่าตัด การส่องกล้อง หรือการฉีดน้ำข้อเข่าเทียม เป็นต้น  

                ถ้าหากคุณหรือคนในครอบครัวมีอาการปวดเข่าอยู่ล่ะก็ อย่าละเลยที่จะหาสาเหตุ และดูแลรักษาอาการด้วยตัวเองในเบื้องต้นก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น และเพื่อให้ข้อเข่ามีสมรรถภาพที่ดีอยู่เสมอ คุณควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินอาการ หาสาเหตุ และรักษาอย่างถูกวิธีจึงจะดีที่สุดนั่นเอง